วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2556

เปิดตัว"เกมเมอร์การ์ด"โปรแกรมป้องกันเด็กติดเกมครั้งแรกของไทย

(17 ก.ย.) ที่โรงแรมเจริญธานี จังหวัดขอนแก่น กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.)จัดสัมมนา เรื่อง “การส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตและเกมเชิงบวกสำหรับเด็กและเยาวชน” พร้อมเปิดตัวโปรแกรมป้องกันเด็กติดเกมเชิงบวก หรือ “เกมเมอร์การ์ด” (Gamer Guard Program)  ครั้งแรกของประเทศไทย โดยมีนายกฤษศญพงษ์ ศิริ ผู้ตรวจราชการวธ. นายวินัย สิทธิมณฑล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธาน พร้อมทั้งมีผู้ประกอบการร้านเกม  ผู้บริหารสถานศึกษา เครือข่ายภาคเอกชน เครือข่ายผู้ปกครอง เข้าร่วมงานครั้งนี้มากกว่า 200 คน
ผศ.ดร.พงษ์ชัย นิลาศ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาและพัฒนากลไก เพื่อการแก้ปัญหาเด็กติดเกมเชิงบวก กล่าวว่า สจล.ใช้เวลา กว่า 1  ปี ในการศึกษาและพัฒนาโปรแกรมดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ ผู้ปกครอง ในการดูแลบุตรหลาน และให้ร้านเกมใช้สำหรับเตือนเด็กและเยาวชนที่เข้าไปใช้บริการในเชิงบวก โดยเป็นโปรแกรมที่ส่งเสริมการเล่นเกมและอินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสม โดยจะมีระบบซอฟท์แวร์แจ้งเตือนเมื่อผู้ใช้งานเล่นเกมและอินเทอร์เน็ตนานเกินไป ซึ่งไม่ได้เป็นการบล็อก หรือปิดกั้น แต่เป็นการเตือนว่า ผู้เล่นเกมเล่นนานเกินไปแล้ว และยังช่วยให้ผู้ปกครองได้รับรู้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรในการดูแลเยาวชนที่เล่นเกม และใช้อินเทอร์เน็ต  นอกจากนี้ระบบจะมีรายงานการใช้งานเกมและอินเทอร์เน็ตย้อนหลังว่า เล่นเกมอะไร เข้าเว็บไซต์ใด และใช้เวลาเท่าใด เพื่อตรวจสอบการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเกมที่เคยเล่น   รวมทั้งมีการให้ความรู้เรื่องเกมและการใช้อินเทอร์เน็ต และให้ความรู้ในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ลักษณะของเด็กติดเกม วิธีป้องกัน วิธีแก้ไขเมื่อติดเกม และภัยของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อสังคม รวมถึงการเติบโตของการบริโภคเทคโนโลยีสารสนเทศ
“จากสถิติการใช้อินเทอร์เน็ต พบว่า ประเทศไทยมีใช้อินเทอร์เน็ตเล่นเกม มากถึง 20 ล้านคน ติดลำดับ 9 ของเอเชีย  โดยร้อยละ 70 ของเด็กและเยาวชน ใช้อินเทอร์เน็ต และเล่นเกมที่บ้าน ขณะที่ ผู้ปกครอง 42.3 ไม่มีการควบคุมการเล่นเกม เพราะไม่รู้จะควบคุมอย่างไร  ที่น่าเป็นห่วงคือเด็กอายุ  6- 19 ปี เคยดูสื่อลามก  สัดส่วนของเด็กและเยาวชน ร้อยละ 49.9 บอกว่าความรุนแรงในเกมเป็นเรื่องปกติธรรมดา  นอกจากนี้ เกมออนไลน์ที่เด็กนิยมเล่น  ร้อยละ 46.1 เป็นเกมต่อสู้ ฆ่าฟัน  และเด็กที่มีพฤติกรรมติดเกม ร้อยละ 13.3  จะมีพฤติกรรม อยากเอาชนะ และมีพฤติกรรมก้าวร้าว” ผศ.ดร.พงษ์ชัย กล่าว  
นายนันทยุทธ หะสิตะเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเล่นเกมซึ่งปัจจุบันมีเกมถึงขั้น พัฒนาเกมที่สอนการมีเพศสัมพันธ์เป็นลำดับขั้น ซึ่งผู้เล่นสามารถเป็นผู้กำหนดการถอดเสื้อผ้าได้ด้วย ที่ร้ายไปกว่านั้น สามารถกำหนดได้ด้วยว่า จะถอดเสื้อผ้าลักษณะไหน เป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างมาก โดยส่งผลให้เด็กเลียนแบบ ทั้งนี้ตนได้เจอตัวอย่างเด็กที่เล่นเกมเหล่านี้ จนทำให้ไปมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรมาแล้ว อย่างไรก็ตาม เกมปัจจุบันเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองตามไม่ทัน เพราะมีการพัฒนาก้าวหน้าไปมาก จึงเป็นสิ่งที่น่าห่วงที่สุดในสังคมไทย
ด้านนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ผอ.สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและประชาสัมพันธ์ วธ. กล่าวว่า วธ.ได้มอบโปรแกรมป้องกันเด็กติดเกมเชิงบวกให้แก่จังหวัดขอนแก่น ไม่ว่าผู้ประกอบการร้านเกม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้นำโปรแกรมดังกล่าวไปทดลองใช้ เนื่องจากวธ.เห็นว่า จังหวัดขอนแก่น เป็นเมืองใหญ่และมีร้านเกมอยู่มากกว่า 1,000 แห่ง ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการขอความร่วมมือในการใช้โปรแกรม พร้อมรับฟังความคิดเห็นว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร จากนั้นจะมีเวทีสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นในกรุงเทพมหานครอีกครั้ง ทั้งนี้ วธ.ยังได้จัดทำการ์ตูนแอนิเมชัน ในการเผยแพร่ความรู้ แนะนำ และสร้างความตระหนักรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสมด้วย จึงอยากเชิญชวนพ่อแม่ ผู้ปกครอง มีส่วนร่วมปกป้องคุ้มครองเด็กเพื่อลดการติดเกม  โดยสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมได้ทางเว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรม  www.c-me.go.th  หรือที่  www.m-culture.go.th
ที่มา  http://www.dailynews.co.th/education/233748

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น